วันจันทร์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ไร่นาสวนผสม : เกษตรทฤษฎีใหม่ เน้นปลูกอ้อยคั้นน้ำสุพรรณบุรี 50 มีรายได้ดี


การทำเกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริเป็นวิธีการหนึ่งที่จะทำให้เกษตรกรมีอยู่ มีกินตามอัตถภาพคือ อาจจะไม่ร่ำรวยแต่ก็สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุข เป็นการพัฒนาการเกษตรแบบผสมผสานและยั่งยืน ยึดหลักบริหารจัดการที่ดินและน้ำให้มีประสิทธิภาพเกิดประโยชน์สูงสุด สามารถลดต้นทุนการประกอบอาชีพลงได้ เกษตรกรรู้จักการอดออม เป็นการทำเกษตรแบบพอเพียง มีผลผลิตให้เก็บเกี่ยวได้ตลอดปี ส่งผลให้ผู้ที่หันมาทำเกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริ ล้วนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีอยู่มีกินกันทุกคนดังกรณีของ คุณพรรลี คำลือ บ้านน้ำจ้อย หมู่ 6 ตำบลเลิงใต้ อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม ที่เข้าร่วมโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ชั่วระยะเวลาเพียง 5 ปี ก็ลืมตาอ้าปากได้ มีรายได้เลี้ยงครอบครัวอย่างไม่เดือดร้อน
คุณพรรลี เล่าถึงการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ว่า เดิมประกอบอาชีพขายของชำมีรายได้พอเลี้ยงครอบครัวได้อย่างสบาย แต่ในปี พ.ศ. 2540 ช่วงเศรษฐกิจตกต่ำสุดขีด ธุรกิจครอบครัวได้รับผลกระทบหนักเพราะรายรับไม่พอกับรายจ่าย ขาดเงินทุนหมุนเวียนผลสุดท้ายก็ต้องปิดร้าน จากนั้นได้หารือกันภายในครอบครัวว่าจะประกอบอาชีพอะไรต่อไปดีจึงจะทำให้ สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้ ขณะนั้นก็มีเจ้าหน้าที่เกษตรมาแนะนำให้เข้าร่วมโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนว พระราชดำริ เพราะลงทุนน้อยและเกษตรกรที่ร่วมโครงการล้วนประสบผลสำเร็จมีอยู่มีกินกันทุก คน คุณพรรลีจึงตัดสินใจสมัครเข้าร่วมโครงการเพราะครอบครัวมีที่นาอยู่ติดลำน้ำ ชี รวม 14 ไร่ ในปี พ.ศ. 2542 จึงใช้เงินไปประมาณ 40,000 บาท ปรับที่นาเป็นไร่นาสวนผสม แบ่งพื้นที่ 2 ไร่ ขุดเป็นบ่อเลี้ยงปลา ทำนา 1 ไร่ ปลูกพืชผักสวนครัว 1 ไร่ ปลูกพืชผักผลไม้ 9 ไร่ ที่อยู่อาศัย 1 ไร่ โดยทางสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดมหาสารคาม ได้ส่งเจ้าหน้าที่บัณฑิตอาสาที่มีความรู้ด้านการเกษตรเข้ามาคอยเป็นพี่ เลี้ยงให้คำแนะนำด้านวิชาการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์รวมทั้งการบริหารจัดการ เพราะเกษตรกรยุคใหม่ต้องมีความรู้ทางด้านการตลาดด้วย เมื่อผลิตออกมาแล้วเหลือบริโภคบางส่วนก็ต้องส่งออกจำหน่าย

"
เงินลง ทุนช่วงแรก 6,000 บาท ซื้อพันธุ์ไม้มาลง โดยปลูกฝรั่งกลมสาลี 50 ต้น ปลูกมะละกอ 100 ต้น มะพร้าวน้ำหอม 50 ต้น ชมพู่ 30 ต้น มะกรูด มะนาว ฯลฯ ระยะเริ่มต้นของการทำสวนเน้นปลูกไม้ผลให้ร่มเงาสร้างความร่มรื่นภายในสวนให้ เป็นธรรมชาติก่อน จากนั้นก็ค่อยๆ ปลูกพืชอย่างอื่นเพิ่มเรื่อยๆ แบบค่อยเป็นค่อยไป ส่วนพืชผักสวนครัวพวกข่า ตะไคร้ พริก มะเขือ ฯลฯ ก็ปลูกไว้ตามริมทางเดินและริมขอบสระน้ำเป็นการใช้ที่ดินทุกตารางนิ้วให้เกิด ผลผลิต และยังเลี้ยงเป็ดและไก่พื้นเมืองไว้อย่างละ 100 ตัว ภายในสระน้ำเลี้ยงปลานิล 3,000 ตัว ส่วนระบบการให้น้ำพืชผักจะใช้สปริงเกลอร์และเครื่องสูบน้ำเข้าช่วย ช่วงบุกเบิกต้องใช้ความอดทนสูงมากเพราะภายในสวนยังไม่เข้าที่เข้าทาง" คุณพรรลี กล่าว
ช่วงครึ่งปีแรกผลผลิตภายในสวนยังมีให้เก็บเกี่ยว น้อย แต่คุณพรรลีและครอบครัวก็ดำรงชีพอยู่ได้อย่างสบาย เชื่อไหมว่าพืชผักสวนครัวพวก สะระแหน่ โหระพา ตะไคร้ ผักชี ผักคะน้า ฯลฯ เป็นตัวทำเงินเก็บขายตลาดมีรายได้ถึงวันละ 200-300 บาท อีกทั้งพวกเป็ด ไก่ ที่เลี้ยงไว้ประมาณ 4-5 เดือน ก็เริ่มโตจับมาบริโภคและขายสร้างรายได้ให้อีกหลายพันบาท จะเห็นว่าระยะเวลาเพียงไม่กี่เดือนของการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ก็เริ่มส่อเค้าไป ในทางที่ดี เนื่องเพราะทุกอย่างภายในสวนเกื้อกูลกันหมด และเมื่อเริ่มเข้าปีที่ 2-3 ภายในไร่นาคุณพรรลี ทุกอย่างเริ่มเข้าที่มากยิ่งขึ้น พืชผักผลไม้ที่ปลูกไว้เริ่มออกดอกออกผลเต็มสวน มองไปทางไหนก็มีแต่ความร่มรื่นอุดมสมบูรณ์ทุกอย่าง ช่วงนี้ คุณพรรลี เริ่มมีรายได้มากขึ้น เพราะสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ทุกวันต่อเนื่องตลอดปี เมื่อทุกอย่างมีพร้อมหมดภายในสวนจึงแทบจะไม่ได้ใช้จ่ายเกี่ยวกับการดำรงชีพ แต่อย่างใด ทำให้คุณพรรลี เริ่มมีเงินเก็บใช้หนี้ธนาคารและส่วนหนึ่งส่งเสียลูกเรียนหนังสือระดับ ปริญญาถึง 2 คน
คุณพรรลีเล่าถึงภารกิจที่ทำอยู่ในแต่ละวันว่า ตื่นเช้าขึ้นมาจะสูบน้ำรดพืชผักสวนครัว เก็บพืชผักและผลไม้ไว้ให้แม่ค้าที่สั่งไว้ และส่วนหนึ่งให้ภรรยานำไปขายเองที่ตลาด จากนั้นก็ให้อาหารปลา เป็ด ไก่ ทำเขตกรรมรดน้ำ พรวนดิน และขยายพันธุ์ต้นไม้ ทำไปเรื่อยๆ เหนื่อยก็พัก งานหลักช่วงปีที่ 2-3 แต่ละวันจะเป็นการเก็บเกี่ยวผลผลิต เพราะทุกอย่างที่อยู่รอบๆ ตัวแปรเป็นเงินได้หมด จากรายได้วันละ 100-200 บาท ก็เริ่มมีรายได้มากขึ้นเรื่อยๆ ถึงวันละ 400-500 บาท

"
ผลผลิต จากไร่นาที่ส่งขายทุกวันตนจะดูว่าพืชผักหรือผลไม้อะไรเป็นที่ต้องการของผู้ บริโภคมากก็จะหันมาปลูกเพิ่ม สนองความต้องการตลาดเพื่อเพิ่มรายได้ แต่ที่ตลาดต้องการน้อยก็ปลูกไว้พอกินเพื่อจะได้ไม่ต้องใช้เงินซื้อหา"
การ ผลิตโดยดูทิศทางตลาดจึงเป็นเทคนิคเฉพาะตัวในการทำเกษตรของคุณพรรลี เพราะจากคำบอกเล่าทราบว่า ช่วงแรกๆ มีการปลูกพืชและไม้ผลหลายอย่าง เช่น กระท้อน ชมพู่ ฯลฯ ปลูกไว้รวมแล้วหลายไร่แต่ราคาไม่ค่อยดีจึงตัดทิ้ง เหลือไว้บริโภคอย่างละ 2-3 ต้น เท่านั้น กระทั่งปี พ.ศ. 2545 ทางศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรเขต 4 ได้เข้ามาสนับสนุนให้ทดลองปลูกอ้อยคั้นน้ำพันธุ์สุพรรณบุรี 50 โดยสถานีทดลองพืชไร่มหาสารคาม สนับสนุนท่อนพันธุ์มา 1,000 ท่อน พร้อมส่งนักวิชาการมาให้คำแนะนำการปลูกแบบครบวงจรและยังให้เครื่องคั้นน้ำ อ้อยอีก 1 เครื่อง จึงทดลองปลูก 1 ไร่ ระยะเวลา 9 เดือนเศษ ก็เก็บเกี่ยวนำมาคั้นน้ำขาย ช่วงแรกๆ ทดลองขายให้กับพ่อค้าแม่ค้า และผู้สนใจที่มาแวะเยี่ยมที่สวน ปรากฏว่ารสชาติของอ้อยพันธุ์นี้หอมหวานถูกปากผู้บริโภคมาก ต่อมาก็เริ่มมีพ่อค้าแม่ค้ามาขอซื้อลำอ้อยไปคั้นน้ำขาย โดยคุณพรรลีตัดขายลำละ 5 บาท เชื่อหรือไม่ว่าในปีนั้นอ้อยเพียง 1 ไร่ สร้างรายได้ให้คุณพรรลีเกือบ 40,000 บาท เมื่อเห็นว่าอ้อยคั้นน้ำกำลังเป็นที่ต้องการของตลาดและสร้างรายได้มากกว่า พืชผลประเภทอื่นๆ ในปี พ.ศ. 2546 คุณพรรลี จึงตัดสินใจขยายพื้นที่ปลูกอ้อยเพิ่มขึ้นเป็น 5 ไร่ โดยเว้นระยะเวลาปลูกแต่ละไร่ห่างกัน 2 เดือน เพื่อให้อ้อยโตไล่เลี่ยกัน จะสลับเก็บเกี่ยวได้ตลอดปี
ในปัจจุบันอ้อยคั้นน้ำในสวนคุณพรรลีจะมี พ่อค้ารถเร่ขาประจำนับสิบรายมาซื้อที่สวนทุกวัน โดยเฉพาะช่วงหน้าร้อนมีไม่พอขายเพราะอ้อยโตไม่ทัน และจากเดิมที่เคยขายลำละ 5 บาท ก็ขายกิโลกรัมละ 2 บาท ซึ่งจะได้ราคาดีกว่า เฉลี่ยลำละ 6-7 บาท คุณพรรลีบอกว่า ปัจจุบันยอดขายอ้อยแต่ละวันไม่ต่ำกว่า 300 กิโลกรัม มีรายได้วันละกว่าพันบาท ช่วงนี้คุณพรรลียอมรับว่า งานค่อนข้างหนักเพราะตัวคนเดียว ต้องตัดอ้อยวันละหลายร้อยกิโลกรัม ส่วนภรรยาก็รับหน้าที่นำผลผลิตพืชผักตัวอื่นๆ ส่งตลาด บรรดาลูกๆ ก็ติดภาระเรียนหนังสือ แต่คุณพรรลีก็บอกว่าไม่ท้อเพราะผลตอบแทนที่ได้ในแต่ละวันคือเงินสดๆ ทำให้หายเหนื่อยเป็นปลิดทิ้ง สามารถเลี้ยงครอบครัวและส่งลูกเรียนได้อย่างสบาย คุณพรรลีบอกว่า ทุกวันนี้มีความปลอดโปร่งใจเป็นที่สุดเพราะหนี้สินไม่มี

วิธีการปลูกอ้อย
คุณ พรรลีเล่าถึงขั้นตอนการปลูกอ้อยคั้นน้ำว่า เกษตรกรที่อยากปลูกอ้อยคั้นน้ำเพื่อเป็นรายได้เสริมหรือเป็นรายได้หลักให้ กับสวนทำได้ง่ายๆ เพราะอ้อยพันธุ์นี้ดูแลไม่ยาก ลงทุนน้อย เฉลี่ยต้นทุนต่อไร่ไม่เกิน 4,000 บาท แต่สามารถตัดลำขายได้เกือบไร่ละ 40,000 บาท และปลูกครั้งเดียวเก็บเกี่ยวได้ถึง 4 รุ่น การปลูกจะใช้วิธีการไถยกร่องให้ปุ๋ยรองพื้นสูตร 15-15-15 อัตรา 80 กิโลกรัม ต่อไร่ การนำท่อนพันธุ์ลงปลูกควรให้มีระยะห่างของแต่ละต้นประมาณ 50 เซนติเมตร ราคาท่อนพันธุ์ที่ขายท่อนละ 3 บาท ติดต่อสอบถามสถานีพืชไร่แต่ละจังหวัดได้ สำหรับตนเองได้รับการสนับสนุนให้มาฟรีเมื่ออ้อยมีอายุได้ 1 เดือน ก็ให้ปุ๋ยสูตร 15-15-15 อีกครั้ง และเมื่อครบ 40 วัน ก็ใส่ปุ๋ยสูตรเดิมอีกพร้อมกับใช้จอบเกลี่ยกลบร่อง ในระยะเวลา 9 เดือน ถึงวันเก็บเกี่ยวให้ปุ๋ย 3 ครั้ง ส่วนปุ๋ยชีวภาพให้ได้ตลอดปี เคล็ดลับการบำรุงรักษาให้ได้อ้อยลำอวบ รสชาติหอมหวานไม่กลายพันธุ์ง่ายคือ น้ำอย่าให้ขาดต้องให้พื้นดินชุ่มน้ำตลอดจนถึงวันเก็บเกี่ยว ข้อควรระวังคือศัตรูของอ้อยที่มักสร้างความเสียหายให้มากคือ หนูพุก คุณพรรลีจะใช้วิธีการวางกับดัก เพราะนำมาประกอบอาหารได้ ส่วนพวกหนอนกอจะใช้สารสกัดสมุนไพรไล่ก็แก้ปัญหาได้ไม่ต้องใช้ยาฆ่าแมลง แต่ช่วงฤดูฝนลำอ้อยมักล้มเพราะโดนลมโดนฝนก็แก้ปัญหาโดยใช้ไม้ตีขนาบสองข้าง ยาวตลอดแปลง การทำเขตกรรมทำครั้งเดียวก็พอ และภายหลังจากที่เก็บเกี่ยวผลผลิตรุ่นแรกแล้ว อย่าใช้วิธีการเผาตออย่างเด็ดขาดเพราะจะทำให้ธาตุอาหารในดินเสื่อม ปล่อยให้กาบอ้อย ใบอ้อย คลุมหญ้าในแปลงไว้เพื่อเก็บความชุ่มชื้นในดินและเป็นปุ๋ยธรรมชาติ จากนั้นก็หว่านปุ๋ยสูตร 15-15-15 ใส่โคนต้นอัตราเดิมอีกไม่กี่วันอ้อยก็จะแตกใบออกมา จากนั้นก็สูบน้ำใส่ในร่องแปลงทุกวันให้ต้นหญ้าและกาบใบอ้อยเน่าก็จะกลายเป็น ปุ๋ยชั้นดีให้กับอ้อย ขั้นตอนบำรุงรักษาก็เหมือนกับการปลูกรุ่นแรก พออายุได้ 9 เดือน ก็เก็บเกี่ยวผลผลิตได้อีก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น